Q: ยักษ์คืออะไร?
A: เมื่อกล่าวถึงคำว่ายักษ์ ในพจนานุกรมไทยหมายถึง อมนุษย์จำพวกหนึ่ง มีนิสัยดุร้ายมีเขี้ยวร่างกายใหญ่โต กินสัตว์และมนุษย์เป็นอาหาร
Q: ทำไมใครๆถึงเรียกยักษ์ว่ายักษ์?
A: ในความหมายดั้งเดิมยักษ์มาจากคำว่า ยักษา (Yaksha) หมายถึง ผู้รักษา เป็นตัวแทนพลังวิญญาณธรรมชาติอย่างหนึ่ง
มีหน้าที่คอยดูแลสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นคติดั้งเดิมของมนุษย์ที่นับถือธรรมชาติ ซึ่งจะพ้องกับความเชื่อในไทย เช่น ผีเสื้อเมือง ผีเสื้อห้วย ผีเสื้อสมุทร เป็นต้น
Q: แล้วมีอะไรที่ดุยิ่งกว่ายักษ์มั้ย?
A: นอกจากนี้ยังมีคำว่า รากษส (Rakshasa) หมายถึงอมุษย์ที่ดุร้ายอีกจำพวกหนึ่งที่ดูดุและมีความป่าเถื่อนกว่ายักษา มีเขี้ยวยาว ตาโปนโต ซึ่งมาจากคติการแบ่งวรรณะของลังกาโบราณ
รากษสจะเป็นวรรณะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านเกษตรกรรม ความเชื่อนี้ก็กระจายมาสู่ชวา บาหลี และดินแดนสุวรรณภูมิ
Q: ทำไมบางครั้งคนไทยถึงเรียกยักษ์ว่าอสูรล่ะ?
A: คนไทยเรียกอมนุษย์ตัวร้ายในรามเกียรต์ฉบับไทยว่ายักษ์ ในขณะที่รามายณะฉบับอินเดียจะเรียกพวกนั้นว่าอสูร ซึ่งคำว่าอสูรจะมีที่มาที่เก่าแก่โยงไปได้ถึงความเชื่อยุคเปอร์เซียโบราณ
มาจากคำว่า อหุระ (Ahura) ในความเชื่อของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ซึ่งมีความหมายในทางที่ดี แต่เมื่อความเชื่อนี้ย้ายเข้ามาสู่ชมพูทวีปคำว่าอสูร จึงค่อยผันเปลี่ยนกลายเป็นเผ่าที่อยู่ฝ่ายอธรรม
เป็นศัตรูกับพวกเทวดา(Devata-ฝ่ายธรรมะ) ในที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อสูรก็มีความดีในขณะที่บางครั้งเทวดาก็มีความชั่วร้ายผลัดเปลี่ยนกันไป
Q: อสูรต้องรับบทเป็นตัวร้ายตลอดเลยเหรอ?
A: อสูรบางตนเป็นเทพหรืออวตารของเทพเพื่อลงมาทำภารกิจสำคัญ อย่างเช่น ท้าวเวสสุวรรณ พระพิราพ(พระไภรวะ) รามสูร ราหู
แถมในบางครั้งอสูรในศาสนาพุทธก็เป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ปางดุร้าย หรือบางตนก็ผันตัวมาอยู่ข้างฝ่ายพระเอกเช่น พิเภก เป็นต้น
Q: แล้วยักษ์ไทยล่ะมาจากไหน? ทำไมถึงไม่เหมือนยักษ์ในหนังแขก
A: ยักษ์ไทยเรานั้นเป็นศูนย์รวมความเชื่อที่รับมาจากรอบด้าน บนพื้นฐานของความเชื่อผีดั้งเดิมผสมผสานกับผู้รักษาศาสนา ในนามยักษาที่เข้ามาในแต่ละยุคสมัย
ด้วยภาพลักษณ์ของอสูรในแบบฮินดูผสมพุทธ ยักษ์ที่ปรากฏอยูในวัดต่างๆในบ้านเรา จึงเป็นยักษ์ที่มีชื่อในศาสนาพราหมณ์แต่มีการแต่งกายชุดเกราะคล้ายเทพอสูรแบบจีนยุคราชวงศ์ถัง
อย่างเช่นยักษ์วัดแจ้ง วัดโพธิ์ และวัดพระแก้ว เป็นพญายักษ์ในศาสนาพราหมณ์แต่ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถานของพุทธ หรือจิตรกรรมไทยพุทธประวัติ
ตอน มารผจญ พญามารก็มีภาพลักษ์ออกมาเหมือนทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์